ลำไยจากจีนสู่ไทย จากดวงตามังกรสู่มณีล้านนา

      น้อยคนนักที่จะทราบว่าลำไยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีนทางตอนใต้ ปลูกกันอย่างแพร่หลายในมณฑลกวางตุ้ง (Kwangtung) ฟุเกี่ยน (Fukein) กวางสี (Guangxi) (นิพัฒน์และเฉลิม, 2542) และแพร่กระจายเข้าไปสู่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา (มลรัฐฮาวายและฟลอริดา) คิวบา หมู่เกาะอินดีสตะวันออก เกาะมาดากัสกา และไทย แหล่งปลูกลำไยในประเทศไทยที่สำคัญคือ จังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา

      จากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลำไยในประเทศไทยนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า พระเจ้าแผ่นดินจีนส่งลำไยมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย จึงมีผู้นำเมล็ดลำไยไปเพาะแล้วแพร่พันธุ์สืบต่อมา สำหรับการแพร่พันธุ์ลำไยไปยังภาคเหนือนั้น บางตำราเล่าว่า ชาวจีนนำพันธุ์ลำไยมาถวายเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 จำนวน 5 ต้น โดยปลูกไว้ที่กรุงเทพมหานคร 2 ต้น และเจ้าน้อยตั๋น ผู้เป็นน้องชายของเจ้าดารารัศมี ได้นำลำไย 3 ต้นที่เหลือมาปลูกไว้ในที่ดินที่ อ.หางดง ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวคือตลาดบ้านน้ำโท้ง และไม่ว่าจะด้วยสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม หรือดินดี น้ำดีก็ตาม จึงทำให้ลำไยสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ทางภาคเหนือ จนกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจ เป็นผลไม้ประจำจังหวัดเลยก็ว่าได้

      ซึ่งปัจจุบันต้นลำไยที่ได้รับมาไว้ครั้งเจ้าดารารัศมีทรงปลูกได้เหลือต้นลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว ที่ปลูกไว้ 3 ต้นในครั้งแรกเพียงต้นเดียว อายุกว่า 117 ปี ซึ่งตายไปเมื่อปี 2556 ระหว่างการเตรียมเคลื่อนย้าย และมีต้นลำไยที่ขยายพันธุ์จากลำไยต้นดังกล่าวอีก 5 ต้น ปัจจุบันอายุประมาณ 108 ปี โดยปัจจุบัน ทางกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ประสานขอการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการเคลื่อนย้ายต้นลำไยประวัติศาสตร์ทั้งหมดไปปลูกรักษาดูแลไว้ในพื้นที่ 3 แห่งได้แก่
      1. โครงการพัฒนาพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
      2. คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้สาขาไม้ผล
      3. เทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

      โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ต้นลำไยพันธุ์ดั้งเดิมไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ ตลอดจนได้ชื่นชม สืบทอด และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาลำไย เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องลำไยอย่างครบวงจร ทั้งด้านประวัติศาสตร์ การผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม

      และจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของลำไยจากจีนสู่ไทย จากดวงตามังกรสู่มณีล้านนา ก็สามารถเป็นหลักฐานได้ชิ้นหนึ่งว่าจีนและไทยมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน จากวันนั้นถึงวันนี้ลำไยของไทยได้พัฒนาสายพันธุ์ได้หลากหลาย มีรสชาติหวานฉ่ำ อร่อย ลูกใหญ่ เม็ดเล็ก เนื้อใสและหนา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลำไยไทย ไม่เหมือนที่ใดๆ ซึ่งลำไยสดในประเทศไทยนั้นปัจจุบันคาดว่ามีกำลังการผลิตมากถึง 300,000 ตันต่อปี เปรียบได้ว่าลำไยคือมณีมีค่าที่เราได้รับมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์และผลไม้ประจำท้องถิ่นล้านนาในปัจจุบัน

ที่มา : MGR online, วิกิพีเดีย, กระทรวงพานิชย์